azan12:ปัญหาเงินเฟ้อ

นอกจากปัญหาการเมืองอันน่าเบื่อ น่าอึดอัด มาสร้างความปวดหัวให้แก่เราทุกครั้งที่อ่าน/ฟังข่าวแล้ว ปัญหาเรื่องข้าวของแพงก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กระทบความมั่นคงทางการเงินของเราอยู่ไม่น้อย อะซานในวงเล็บฉบับนี้ขอคุยเรื่องเงินเฟ้อก็แล้วกัน

หลายๆ คนคงได้ยินคำว่าเงินเฟ้อ (Inflation) มาบ้างแล้ว ไม่จากชั้นเรียนตอนมัธยมปลายก็จากข่าวของพวกนักวิเคราะห์ข่าวพูดกัน เงินเฟ้อเป็นคำที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้เรียกปรากฏการณ์ที่ราคาสินค้าโดยทั่วไปสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้าวแกงหน้าปากซอย ขนมหวานเจ้าประจำ ของใช้ประจำวัน ทยอยกันขึ้นราคาแทบทั้งหมด การขึ้นราคานี้ไม่ใช่ขึ้นเป็นรายสินค้าเฉพาะ แต่เป็นการขึ้นโดยพร้อมหน้ากัน และไม่ใช่ระยะสั้นแน่นอน

หรืออาจจะอธิบายในอีกนัยหนึ่งคือ ค่าของเงินในกระเป๋าของเรามีค่าน้อยลง เช่น เงิน 10 บาทเคยซื้อหนังสือพิมพ์อะซานได้หนึ่งฉบับ จู่ๆ ราคาข้าวของขึ้นราคากันหมด บอกอก็แบกภาระไม่ไหวขึ้นราคาเป็น 20 บาท (แค่สมมติ เพราะบอกอไม่ขึ้นง่ายๆ) เงิน 10 บาทที่เคยซื้อหนังสือพิมพ์อะซานอ่านทุกเดือน ตอนนี้ได้แค่ครึ่งฉบับ (ลำบากตายเลย บอกอไม่แบ่งขายซะด้วย) นั่นสะท้อนให้เห็นว่าค่าที่แท้จริงของเงิน 10 บาท มันลดลง

เรามาดูสาเหตุของปัญหานี้กันดีกว่า สาเหตุของมันนักเศรษฐศาสตร์บอกว่ามีด้วยกัน 2 ทาง จากทางการผลักดันทางต้นทุนการผลิต (cost push) และจากทางความต้องการซื้อ (demand pull) สาเหตุแรกหากเกิดการเพิ่มขึ้นของราคาต้นทุนปัจจัยการผลิตของสินค้าและบริการโดยรวมของประเทศ (เช่น น้ำมัน, ค่าแรง, ค่าเงินสกุลของประเทศลดลง) ผู้ผลิตก็ประสบปัญหาต้นทุนที่แพงขึ้น เพื่อต้องการคงระดับกำไรไว้ที่เดิม ผู้ผลิตจึงผลักภาระนี้ไปยังผู้บริโภค โดยปรับขึ้นราคาสินค้า ในบางอุตสากรรมราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นทำให้แรงงานเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีก เพราะค่าครองชีพหรือสินค้าในชีวิตประจำวันก็ขึ้นราคาจากภาวะเงินเฟ้อด้วย ต้นทุนของผู้ผลิตจึงเพิ่มขึ้นมาอีกด้าน นี่คือเงินเฟ้อที่มีสาเหตุจากทางด้านต้นทุน

ส่วนสาเหตุที่มาจากทางฝั่งผู้บริโภค ความต้องการซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วจนไม่ทันต่อปริมาณสินค้าในตลาด อาจจะเพราะอัตราการเกิดที่สูงขึ้นหรือจากการย้ายเข้ามาของชาติอื่น การเพิ่มขึ้นของความต้องการบริโภคนั้นเกินกว่าที่การผลิตจะตอบสนองได้ทันในเวลาอันสั้น ผู้ผลิตจึงจำต้องปรับราคาสินค้าขึ้นเพื่อให้ปริมาณความต้องการสินค้ากับปริมาณสินค้าที่มีอยู่จริงเท่ากัน

ปัญหาเหล่านี้พอจะทุเลาได้ง่าย หากมันเกิดทีละด้าน แต่กรณีที่พบมันจะเกิดพร้อมๆ กัน เช่น เมื่อเกิดวิกฤติพลังงานพร้อมๆ กับวิกฤติอาหาร ราคาน้ำมันอันเป็นปัจจัยการผลิดทั้งทางตรงและทางอ้อมของสินค้าหลายๆ ชนิดเพิ่มสูงขึ้น หากจะขายราคาเดิมจำต้องลดการผลิตลง ในอีกทางผู้บริโภคเกรงว่าอาหารจะขาดแคลนและราคาสินค้าจะสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้เกิดปริมาณความต้องการซื้อที่สูงขึ้น ความไม่สมดุลของจำนวนสินค้าที่ขายในตลาดกับความต้องการซื้อของผู้คน ทำให้ภาวะเงินเฟ้อมีความรุนแรงมาก

โดยทั่วไป คนเราไม่ค่อยสนใจหรอกว่าปัญหาหนึ่งๆ จะมีสาเหตุมาจากอะไรจะสนก็แค่ว่ามันกระทบกับตัวเองยังไง เงินเฟ้อเป็นหนึ่งในปัญหาที่คนไม่ค่อยสนใจหากมันไม่แสดงอาการ แต่คราวใดที่มันแผลงฤทธิ์ผู้ที่ได้รับผลกระทบกลุ่มแรกเลยก็คือ ผู้มีรายได้น้อยและคนจน คนหาเช้ากินค่ำที่มีรายได้ไม่แน่นอนอยู่แล้วมาเจอกับการด้อยค่าลงของเงินในมืออีก อาหารจำนวนเท่าเดิมที่เคยประทังชีวิตก็ไม่อาจยาไส้ได้อีกแล้ว คนที่ทำธุรกิจก็ลำบากเนื่องจากความไม่แน่นอนสูงเกินกว่าจะคาดดะเนรายรับในอนาคตได้ ปัญหานี้จึงส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อการลงทุนและการพัฒนาประเทศ

สิ่งที่อยู่ในวงเล็บของเรื่องนี้ คือปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อปั่นป่วนมากขึ้นๆ จากทั้งสองด้านที่กล่าวมาแล้วนั้นนั้น ล้วนมีดอกเบี้ยอยู่เบื้องหลัง!

ในฝั่งความต้องการบริโภคที่สูงขึ้นนั้น (demand pull) คือระบบดอกเบี้ยที่แฝงมากับระบบเครดิตการ์ด การซื้อของแบบผ่อน และสินเชื่อเพื่อการบริโภค ระบบตรงนี้สร้างความต้องการซื้อสินค้าที่เกินตัวขึ้นมา จนมันขยายใหญ่เกินกว่ากำลังการผลิตของระบบจะสามารถตอบสนองได้ทัน โดยปกติเงินออมของเราธนาคารจะนำไปในภาคธุรกิจลงทุน ขยายปริมาณการผลิตขึ้น แต่ระบบเครดิตการ์ดนอกจากจะไม่ส่งเสริมการออมแล้วยังไปขโมยเงินในอนาคตมาใช้ก่อน ทำให้เงินที่เป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุนในภาคธุรกิจลดลงอย่างฮวบฮาบ ตรงกันข้ามกับยอดความต้องการซื้อที่กลับมีแต่สูงขึ้น ลำพังการขาดหายไปของเงินออมที่ส่งผลต่อการลงทุนในภาพรวมแล้ว การดอกเบี้ยมาใช้ร่วมในระบบนี้ด้วย ทำให้เกิดจำนวนเงินที่เกินเข้ามาในระบบ การสร้างเงินจำนวนนี้เพิ่มเข้ามาส่งผลร้ายต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะปริมาณเงินในระบบที่เกินกว่าปริมาณการซื้อขายจริงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลจนทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นและเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นี่เป็นปัญหาหลักใหญ่ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจอเมริกาต้องเผชิญปัญหาสาหัสในขณะนี้

อย่างไรก็ตามปัญหาเงินเฟ้อเป็นปัญหาที่เราต้องเผชิญตราบใดก็ตามที่เรายังใช้เงินตราที่ไม่ได้มีค่าในตัวมันเอง (ทราบหรือไม่ว่าต้นทุนในการผลิตเงิน1ดอลลาร์หรือ1หน่วยเงินตราใดก็ตาม มีค่าน้อยเหลือเกิน ส่วนต่างตรงนี้แหละที่ผู้พิมพ์เงินได้รับไปอย่างมหาศาล ประเด็นเรื่องนี้ไว้มีโอกาสดีๆ คงได้คุยกัน) เอาละ ในเมื่อเรายังใช้เงินกระดาษกันอยู่ เราจะมีวิธีลดความเสี่ยงจากการสูญเสียกำลังซื้อของเงินในกระเป๋าเราอย่างไร

หากเรามีเงินเก็บและไม่ได้รีบนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้ ขอเสนอให้ท่านนำเงินไปลงทุนในกิจการอะไรก็ได้ที่ไม่ขัดต่ออิสลามและให้ผลตอบแทนที่ดี หรือไม่ก็นำไปซื้อทองคำเก็บเอาไว้ แต่ผมแนะนำวิธีแรก เพราะอิสลามส่งเสริมให้เราใช้จ่ายเงิน ไม่ให้เงินคงอยู่ในมือของคนไม่กี่คนและการเก็บเงินไว้นิ่งๆ ส่งผลร้ายต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่าการใช้จ่ายมันออกไป ตัวอย่างของนบีมุฮัมหมัดก็ชี้ให้เห็นชัดเลยว่า ท่านไม่ชอบเท่าใดนักที่จะเห็นเงินค้างอยู่ในบ้านท่าน โดยไม่ได้นำออกไปสู่สังคม

ความเลวร้ายของดอกเบี้ยที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจมีอีกมากครับ เอาไว้มาต่อฉบับหน้า อินชาอัลลอฮฺ

ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์อะซาน ฉบับที่ 12

10 คิดบน “azan12:ปัญหาเงินเฟ้อ

  1. การลงทุนในตลาดหุ้นในรูปแบบเล็งที่ผลกำไรที่ไม่ใช่การเก็งกำไร ยกตัวอย่างตลาดหุ้นไทย ทำได้หรือเปล่านะ

  2. โดยหลักการลงทุนในหุ้น ตามหลักการอิสลามมีดังนี้
    1. หุ้นชนิดนั้นเป็นกิจการที่ไม่ใช่กิจการที่เป็นที่ต้องห้ามในอิสลาม เช่น ไม่ใช่กิจการที่ขายสุรา, บุหรี่, การพนัน
    2. หุ้นที่ว่า ไม่มีเรื่องของดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้อง กำไรในที่ว่าเป็นส่วนของเงินปันผลที่ไม่ได้ระบุจำนวนแน่นอนว่ามากน้อยแค่ไหน เพียงบอกเปอร์เซ็นต์ที่อาจจะได้รับ (ซึ่งหากกิจการไม่มีกำไรก็ไม่มีปันผล เป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งต่างจากดอกเบี้ยที่ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง)
    3. การซื้อขายหุ้น ก็เหมือนกับการซื้อขายของ นั่นคือ เราจะขายของได้ก็ต่อเมื่อเราเป็นเจ้าของสินค้านั้นแล้ว การขายของโดยไม่ได้เป็นเจ้าของ เป็นที่ต้องห้าม (นั่นคือ short selling ในตลาดหุ้น มุสลิมทำไม่ได้ครับ)
    4. โดยทั่วไปแล้ว ธุรกิจที่อยู่ในตลาดหุ้นที่มุสลิมลงทุนได้ มีไม่กี่ตัวหรอกครับ เช่น ธุรกิจพลังงาน, น้ำมัน, ทองคำ, กิจการทั่วๆ ไป
    5. หุ้น มีหลายประเภทนะครับ ต้องศึกษาดีๆ บางตัวมุสลิมเล่นไม่ได้ครับ

    มีอะไร ก็ถามไว้ต่อได้ครับ

  3. Assalamu Alaikum

    ตอบภาษาอะไรก็ได้ตามที่คุณถนัดเเล้วกัน

    รบกวนถามอีกขอเเล้วกันนะ คือว่าช่วยวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานะการณ์ US financial crisis and

    its effects on the Glabal Economic ตามหลักการอิสลามไห้หน่อยนะ ( if possible)

    jazakallahu kair

  4. เรื่อง US financial crisis รออ่านจากหนังสือพิมพ์อะซานฉบับหน้าละกัน (อินชาอัลลอฮฺ)

    จะขอตอบเรื่องเงินเฟ้อ ในสมัยอิสลามยุคแรกๆ ละกัน

    ต้องเข้าใจก่อนว่า เรื่องเงินเฟ้อผูกอยู่กับเรื่องของเงินเป็นหลัก เป็นเรื่องของความไม่สมดุลระหว่างปริมาณเงินกับผลผลิตจริง
    อย่างที่ว่าในบทความข้างต้น “ปัญหาเงินเฟ้อเป็นปัญหาที่เราต้องเผชิญตราบใดก็ตามที่เรายังใช้เงินตราที่ไม่ได้มีค่าในตัวมันเอง” แต่ในยุคสมัยก่อนนั้น โลกของเราใช้เงินตราที่มีค่าในตัวของมันเอง คือ ทองคำ เงิน ทองแดง เป็นต้น แตกต่างกันไปตามแต่เขตแดนต่างๆ ในโลก
    อิสลามเอง ก็นำเงินตราที่เรียกว่า ดินาร (เหรียญทอง) ดิรฮัม (เหรียญเงิน) ฟุลุส (เหรียญทองแดง) มาใช้เป็นเงินตราแลกเปลี่ยนในการทำธุรกิจต่างๆ
    นั่นคือ เงินเฟ้อในสมัยนั้นไม่ได้เป็นปัญหาที่เจอบ่อย
    มีนักวิชาการบางคนถึงกับบอกว่า ไม่มีปัญหาเงินเฟ้อ หากเรานำระบบเงินดินารมาใช้อีกครั้ง
    ในส่วนตัวผมเอง ผมเห็นด้วยกับการนำระบบดินารมาใช้ เพราะมันเป็นระบบที่ยุติธรรมในหลายๆ แง่ (ยาวเกินกว่าจะอธิบายหมดในคอมเม้น รออ่านบทความ อินชาอัลลอฮฺ) แต่ถึงระบบดินารกลับมา เงินเฟ้อก็ยังเป็นเรื่องที่เราต้องพบเจอ และแก้ไขอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ว่าเจอน้อยลงแค่นั้นเอง

    ไม่ได้มีการบันทึกไว้ชัดเจนนักว่า เงินเฟ้อเกิดขึ้นมั้ยในสมัยนบี แต่ก็มีบางเคสที่อาจเป็นวิธีที่ท่านนบีใช้ในกาีรแก้ไขปัญหานี้ ส่วนในสมัยยุคถัดๆ มาของอิสลาม ปัญหาเงินเฟ้อปรากฎและรัฐอิสลามในสมัยนั้นใช้ในหลายวิธีในการแก้ไข (ในรายละเอียดค่อย เขียนเป็นเรื่องเป็นราว อินชาัอัลลอฮฺ อีกแล้ว)

  5. ขอยกตัวอย่างไว้ให้เป็นภาพๆ ก็แล้วกัน
    มีอยู่ช่วงหนึ่ง สินค้าโดยทั่วไปในมะดีนะฮฺ ราคาสูงขึ้นมาก (น่าจะเพราะเกิดการขาดแคลนอาหาร) จนบรรดาผู้คนไปขอให้ท่านนบี กำหนดราคาสินค้าไว้ในระดับที่ผู้คนสามารถซื้อหาได้ แต่นบีกลับปฏิเสธที่จะทำดังกล่าว โดยบอกว่าอัลลอฮฺเท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนดให้สินค้าขึ้นหรือลง

    บรรดานักฮะดิษและนักวิชาการ อธิบายฮะดิษนี้ต่างๆ มากมาย จนเป็นข้อสรุปว่า การกำหนดราคาสินค้า price fixing โดยรัฐบาล เป็นที่ต้องห้าม ในอิสลาม

    อิบนุ กุดามะฮฺ ได้ให้มุมมองไว้ (ขอก็อบจากที่เขียนทำรายงานไว้นะ)
    Firstly, the Prophet did not fix the price in spite of people’s demand for it – if it were permissible, he would have done it.
    Secondly, price fixing is an injustice which is prohibited.

    ลองมาดูทางมุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์ดูบ้าง
    อิบนุ กุดามะฮฺ คนเดิม บอกว่า
    He also gives an economic viewpoint on this issue that when outside traders hear about price control, they will not bring their goods into the market will price are lower than their will. And local traders will conceal their goods. The needy consumers will demand them, and the excessive demand will bid the price up. At the end of the day, both parties will suffer from it.
    Price fixing will bring a result which opposite of what it intends.

    อิบนุ ตัยมิยะฮฺ ก็กล่าว อธิบายเรื่องนี้ไว้ชัดว่า
    ธุรกิจของมะดีนะฮฺ ส่วนใหญ่แล้วอิงกับการนำเข้า ดังนั้นการกำหนดราคาจะส่งผลให้พ่อค้าข้างนอกไม่ยอมนำสินค้าเข้ามาขายในมะดีนะฮฺเนื่องจากราคาต่ำเกินไป

    นั่นคือ ท่านนบีเข้าใจสภาพการค้าสมัยนั้นดี ไม่นาน พ่อค้าข้างนอกจะนำสินค้าเข้ามาเพิ่มแล้วราคาก็จะลดลงเอง หลังจากนั้นก็ไม่มีใครขอให้นบีกำหนดราคาอีกเลย
    เหตุการณ์ทำนองเดียวกัน เกิดขึ้นในสมัยท่านอุมัร
    ท่านอุมัรเองก็ไม่กำหนดราคาไ้ว้ แต่ใช้วิธีให้นำเข้าสินค้ามาจากอิยิปต์เพิ่มมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

  6. มีอีกฮะดิษหนึ่ง ที่ท่านนบีสั่งใช้ให้ อับบาส ลุงของท่านจ่ายซะกาตล่วงหน้าสองปี
    มีนักวิชาการบางคนบอกว่า อาจเป็นวิธีที่นบีใช้ในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ โดยการดึงเงินในระบบออกมา และอับบาสก็เป็นคนร่ำรวยในสมัยนั้น
    แต่ประเด็นนี้ก็ไม่เคลียร์ันักว่าการเก็บซะกาตล่วงหน้า เป็นการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ หรือท่านนบีต้องการfinance เรื่องอื่นกันแน่

    อย่างที่บอกในบทความครับ เราต้องแจกแจงรายละเอียด สาเหตุของเงินเฟ้อให้ชัด ก่อนจะมาสู่ประเด็นการแก้ไข
    เพราะการแก้ไขที่ผิดจากสาเหตุของมัน จะเป็นการซ้ำเติมปัญหา และทุกอย่างจะแย่ลงไปกว่าเดิม

ส่งความเห็นที่ Mukminah ยกเลิกการตอบ